แม้เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสสำคัญท่ามกลางวิกฤติที่ประเทศไทยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แต่การดำเนินการใดๆ ณ สถานการณ์นี้ก็ยังคงต้องถูกตั้งคำถามและตรวจสอบ... ยิ่งเป็นโครงการใหญ่ยิ่งถูกจับตา
ดังกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) โดยการนำของ "ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" หรือ ดร.โกร่ง ได้ออกมาระบุว่าจะใช้ข้อเสนอแนะของ "โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา" ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนตุลาคม 2543 เป็นแนวทางการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ตามหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายนั่นคือ การสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติกลับคืนมายังประเทศไทย และวางแผนการลงทุนระบบน้ำทั้งหมด
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าผลักดันสุดตัวต่อรัฐบาลและคณะยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ให้ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยระยะยาว ด้วยเหตุผลว่า ไจก้าเคยศึกษาการวางแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณการในพื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2543 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เมื่อเปิดเอกสาร "โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา" ของสำนักงานทรัพย์สินฯ พบว่า แผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีมาตรการทั้งที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ใช้สิ่งก่อสร้าง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ โครงการผันน้ำ ไปจนถึงโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
หากดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ (Return Flow) เพื่อไปใช้กับพื้นที่ที่ที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำได้อีก ไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้าน ลบ.ม.
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือพื้นที่ในระบบชลประทานของโครงการพิษณุโลก โครงการเจ้าพระยาใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ (ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่) จะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้
ส่วนประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือการลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถลดปริมาณน้ำเหนือหากผ่านปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือสามารถป้องกันน้ำท่วมในขนาดรอบ 25 ปีได้อย่างดี ซึ่งรวมถึงขนาดน้ำท่วมของปี 2538 และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้รวมวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น จะมีปริมาณน้ำจืดเพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ (น้ำเสียและน้ำเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านโครงการดังกล่าวก็มีมาตั้งแต่ก่อนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 โดยเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทบทวนโครงการดังกล่าวเป็นระยะ และระบุว่าข้อเสนอในโครงการดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นที่รวบรวมมาจากหน่วยงานราชการ
โครงการย่อยต่างๆ ภายใต้โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาทิ โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล โครงการเขื่อนแม่ขาน โครงการเขื่อนแม่วงก์ โครงการเขื่อนแควน้อย โครงการเขื่อนกิ่วคอหมา รวมไปถึงการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้น้ำในพื้นที่ชลประทาน การเร่งออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ฯลฯ ล้วนยังคงมีข้อถกเถียงและมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและประชาชนผู้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยในเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสของการดำเนินงาน ผลประโยชน์ที่แท้จริง และผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก
โครงการผันน้ำสาละวิน-เขื่อนภูมิพล
นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยังเคยมีหนังสือส่งไปยังผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในด้านลบต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องที่ไม่อาจควบคุมได้ อย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.จากสภาพของข้อเท็จจริงในบางพื้นที่ ได้ปรากฏกระแสข่าวลือในเรื่อง "เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" มาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อโครงการจัดทำกรอบฯ มีสถานภาพเป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 จึงน่าเป็นห่วงต่อการนำไปปฏิบัติใช้จริงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่ราษฎรในพื้นที่ต่อสถานภาพของโครงการนี้อย่างเป็นจริง
2.ในกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนราชการจำนวนมาก ต่างก็ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งในโครงการสร้างเขื่อนและ โครงการผันน้ำ แต่ปรากฏว่าโครงการต่างๆ ที่ยังคงมีปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรทั้งหมดถูกบรรจุไว้ในโครงการจัดทำกรอบฯ ดังกล่าว
3.คณะทำงานของโครงการจัดทำกรอบฯ บางท่าน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกำลังศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับกรมชลประทาน อาทิเช่น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ดังนั้นข้อเสนอมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่องานของบริษัทที่ปรึกษาที่เสนอต่อกรมชลประทาน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และป้องกันความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต การนำโครงการดังกล่าวกลับมาปัดฝุ่น อาจต้องการการหยั่งเสียงและฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมวงกว้างอีกครั้ง
000
บทสรุปและข้อเสนอแนะ โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้
· สาเหตุและปัญหาทรัพยากรน้ำ
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญที่สุดในด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม การตั้งถิ่นฐาน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลัก ในอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ โดยขาดการวางแผนและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ คือ
1.การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทั้งทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้ มีสภาพเสื่อมโทรมเป็นอันมากก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินที่รุนแรง ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ อุทกภัย และภัยแล้ง
2.การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เป็นสาเหตุให้เกิดความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและปริมาณน้ำท่าที่มีแนวโน้มลดลงทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ น้ำเสีย และอุทกภัย
3.การพัฒนาทรัพยากรน้ำไม่สามารถกระจายตัวในลุ่มน้ำต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณ สภาพภูมิประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากเขตชนบทสู่เมืองใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่ไม่มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำในระดับลุ่มน้ำ
4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตภัยแล้งในปี 2533-37 ทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจาพระยา 2 – 3 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากกว่า 10,000 ล้านบาท และส่งผลเสียหายต่อการใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ เช่น อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม การคมนาคมทางน้ำ นอกจากนนั้นมีการนำน้ำบาดาลมาใช้ทดแทนมากขึ้นเป็นเหตุให้การทรุดตัวของดิน ยังผลก่อให้เกิดปัญหารุนแรงและต่อเนื่องในอนาคต เช่น ปัญหาน้ำท่วม ถ้าเกิดกรณีอุทกภัยเช่นปี 2538 ในอนาคต 15 ปี จากการพัฒนาชุมชนเมืองและสภาพการใช้ที่ดินจะเกิดความเสียหาย 164,000 ล้านบาท
5.ผลกระทบจากกรณีที่แม่น้ำท่าจีนเน่าเสียในต้นปี 2543 สาเหตุมาจากการใช้สารเคมีในไร่นา รวมกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานเกิดความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท ทำลายพื้นที่เกษตรกรรมรวม 200,000 ไร่
· แผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ
จากปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ จำเป็นต้องดำเนินแผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สามารถจัดหาปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในฤดูแล้งประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. บรรเทาอุทกภัยโดยลดปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำหลากช่วงที่ผ่านบางไทรได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที และปรับปรุงคุณภาพน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ถึงวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.
1.แผนระยะสั้น
จะต้องแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการต่างๆ โดยเน้นในพื้นที่ระดับเฉพาะถิ่นและระดับลุ่มน้ำที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมอยู่แล้วเป็นหลัก สามารถลดความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ได้เพิ่มขึ้นในฤดูฝนเพื่อมาใช้ในฤดูแล้งประมาณ 1,070 ล้าน ลบ.ม. เพื่อกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ และรักษาคุณภาพน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้แก่พื้นที่ใช้น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ประมาณ 10 ล้านไร่ ลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 250 ลบ.ม.ต่อวินาที และจัดสร้างพื้นที่ปิดล้อมป้องกันพื้นที่ชุมชนหลัก รวมทั้งลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้ประมาณวันละ 1.6 ล้าน ลบ.ม.
มาตรการที่นำมาใช้ประกอบด้วย
1.1มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง ลดปัญหาน้ำเสียและมีระบบเตือนภัยน้ำท่วมประกอบด้วย
1) การฟื้นฟู อนุรักษ์สภาพแวดล้อม
2) การปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
3) การปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร
4) ระบบทำนายและระบบเตือนภัยน้ำท่วม
5) กำหนดการใช้ที่ดิน/พื้นที่เสี่ยงภัย
6) การทำประกันอุทกภัย ผจญภัย และการฟื้นฟูหลังจากอุทกภัย
7) ปรับปรุงเกณฑ์การปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
8) สร้างจิตสำนึกให้ลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ
9) กำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำทิ้ง
10) กำหนดโควตาปริมาณน้ำทิ้งและคุณภาพน้ำทิ้งของแต่ละชุมชน
11) ปรับด้านกฎหมายและองค์กร
1.2 มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง สามารถจัดหาปริมาณน้ำเพิ่มให้กับลุ่มน้ำ ลดปัญหาน้ำเสีย และบรรเทาอุทกภัยในเมืองหลัก ประกอบด้วย
1) การส่งเสริมการปลูกป่าในแหล่งต้นน้ำลำธาร
2) ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและการพัฒนาน้ำใต้ดิน
3) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ
4) ก่อสร้างโครงการชลประทานระบบท่อ
5) จัดทำระบบปิดล้อมพื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ และเมืองหลัก
6) ก่อสร้างระบบน้ำเสียรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลักตอนล่าง
มาตรการและแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นรอบ 25 ปี (เช่นปี 2538) และปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งปัญหาน้ำเสียเช่นที่เกิดขึ้นช่วงปี 2533-2537 ที่จะมีผลรุนแรงขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีแผนระยะกลางและระยะยาวเพิ่มเติม
2.แผนระยะกลาง (5-15 ปี)
จะต้องใช้มาตรการมีสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก ทั้งพื้นที่เปิดใหม่ และพื้นที่เดิมในลุ่มน้ำที่วิกฤต สามารถจัดหาปริมาตรน้ำใช้งานในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ม. ลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยประมาณ 550 ลบ.ม.ต่อวินาที และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้วันละ 5.5 ล้าน ลบ.ม.
มาตรการที่นำมาใช้ประกอบด้วย
2.1 ก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองโพธิ์ อ่างเก็บน้ำแม่วงศ์ และอ่างเก็บน้ำแควน้อย
2.2 โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน และโครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล อาจต่อเนื่องถึงแผนระยะยาว
2.3 พัฒนาระบบแก้มลิงในทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง
2.4 ปรับปรุงระบบระบายน้ำ
2.5 จัดสร้างช่องทางผันน้ำหลากบางไทร-อ่าวไทย อาจต้องต่อเนื่องถึงแผนระยะยาว
2.6 ปรับปรุงสภาพลำน้ำระยะที่1
2.7 สร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลักที่เหลือและท่าจีน
แผนระยะกลางจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำเสีย และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่เปิดใหม่ของลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำแควน้อย รวมทั้งพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ รวม 10 ล้านไร่ อย่างได้ผล แต่ถ้าต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ต้องดำเนินมาตรการในแผนระยะยาว
3.แผนระยะยาว (มากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี)
จะต้องแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำโยใช้มาตรการมีสิ่งก่อสร้างเต็มรูปแบบ จะสามารถจัดหาน้ำเพิ่มขึ้นในลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. และลดปริมาณน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ใต้บางไทรประมาณ 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งปรับคุณภาพน้ำเสียในลุ่มน้ำได้ถึงวันละ 9 ล้าน ลบ.ม.
มาตรการที่ใช้ประกอบด้วย
3.1 การก่อสร้างโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ อ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ขาน
3.2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการผันน้ำเมย-สาละวิน-เขื่อนภูมิพล และโครงการกก-อิง-น่าน
3.3 โครงการพัฒนาระบบแก้มลิงทุกลุ่มน้ำ รวมทั้งปรับปรุงระบบระบายน้ำ
3.4 โครงการก่อสร้างช่องทางผันน้ำฝั่งตะวันออกจากอำเภอบางไทรสู่อ่าวไทย
3.5 ปรับปรุงสภาพลำน้ำระยะที่ 2
3.6 สร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียในลุ่มน้ำป่าสัก ปิง วัง ยม น่าน และสะแกกรัง
สรุปตามแผนและมาตรการทั้งสามระยะ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำได้ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้าน ลบ.ม. นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ (Return Flow) เพื่อไปใช้กับพื้นที่ที่ที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำได้อีก ไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้าน ลบ.ม.
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง คือพื้นที่ในระบบชลประทานของโครงการพิษณุโลก โครงการเจ้าพระยาใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ (ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่) จะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้
ส่วนประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือการลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สามารถลดปริมาณน้ำเหนือหากผ่านปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการได้ถึง 1,900 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือสามารถป้องกันน้ำท่วมในขนาดรอบ 25 ปีได้อย่างดี (ขนาดน้ำท่วมของปี 2538) และลดปริมาณน้ำเสียจากเมืองหลักได้รวมวันละ 9 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น จะมีปริมาณน้ำจืดเพียงพอที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ (น้ำเสียและน้ำเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้วย
· การปรับแผนและทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคต
การพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความจำกัดตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในลุ่มน้ำ แม้จะมีการพัฒนาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นก็ตาม แต่จะต้องมีข้อจำกัดที่จะไม่พัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกินที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับแผนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำ กล่าวคือ
1. กำหนดความเจริญเติบโตในการพัฒนาในลุ่มน้ำให้เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ
2. การพัฒนาที่ยึดแนวเศรษฐกิจอย่างพอเพียง
3. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในทุกขนาดโครงการประมาณ 20 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ชลประทานในโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่าน้อย 10 ล้านไร่ ที่มีปรมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะต้องกำหนดนโยบายและทิศทางการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ชลประทานของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง
4. ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝน โดยใช้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
5. การควบคุมการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำเพื่อให้มีความชัดเจนในการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
6. ปรับปรุงรูปแบบการประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของหน่วยงานต่างๆ ให้ประสานผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอย่างมีประสิทธิผล และนำไปปฎิบัติได้อย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะ
การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีข้อเสนอแนะที่ต้องดำเนินการให้บรรลุผล กล่าวคือ
1.สนับสนุนและกำหนดแนวทางของโครงการ จัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มีผลทางปฏิบัติ
2.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อให้ครอบคลุมด้านการพัฒนาจัดหาน้ำต้นทุน การจัดสรรน้ำ การควบคุมอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และอุทกภัย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำให้มากขึ้น เป็นแผนระยะยาวควบคู่กับการวางแผนการใช้ที่ดิน และการขยายตัวของสังคมและเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
3.ผลักดันการจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นให้เต็มตามศักยภาพและให้เหมาะสมกับดุลยภาพของระบบนิเวศ จะต้องให้ความสำคัญการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้กับโครงการใหม่ๆ ในระดับลุ่มน้ำ เพื่อประโยชน์การแก้ไขปัญหาน้ำในทุกๆ ด้าน และกระจายความอยู่ดีกินดีทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ
4.เสนอให้ปฏิรูปองค์กรเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำมีความต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง
5.เสนอรัฐตั้งคณะกรรมทำงานพิจารณาทบทวน แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำเดิมและผลักดันเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรภายใน 1 ปี
6.เสนอให้จัดตั้งกองทุนน้ำ (Water Fund) เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ
7.เสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ผู้ใช้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าบริการ (User pay principle) เช่น เก็บค่าบริการจากผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานและเก็บค่าคืนทุนจากโครงการที่รัฐลงทุน
การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาน้ำขาดแคลน น้ำท่วม และน้ำเสีย รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการทุกมาตรการ โดยเน้นมาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างเป็นลำดับแรก อาจจะต้องศึกษาและวางแผนการปฏิบัติเพื่อไม่ให้แผนงานและโครงการของทุกหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนและผลกระทบต่อกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในระบบเดียวกัน ประหยัด และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในระยะยาวรัฐบาลควรปรับแผนและกำหนดขีดจำกัดความเจริญเติบโตของการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ พร้อมกำหนดความชัดเจนการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ฯลฯ
สำหรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ คือ อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์, แม่วงศ์, แควน้อย, แก่งเสือเต้น, กิ่วคอหมา, และแม่ขาน หรือโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ คือ กก-อิง-น่าน, เมย-สาละวิน-ภูมิพล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง ต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการนาน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบสูงด้านสังคมและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
ควรตั้งหน่วยงานกลางหรือคณะทำงานกลางเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจังในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนานจนกระทั่งมีการพัฒนาการใช้ที่ดินในพื้นที่อ่างเก็บน้ำมากขึ้น จะไม่อาจดำเนินการได้ หากรัฐบาลมีนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำ นอกจากพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ช่วงฤดูแล้งอย่างเต็มที่ ก็ควรจัดทำโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำเพื่อหาน้ำมาเพิ่มให้เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ เพื่อส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
สำหรับโครงการช่องทางผันน้ำท่วมบางไทร-อ่าวไทย นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันความปลอดภัยของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่สำคัญของประเทศ (ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ) แล้วยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศอีกด้วย เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบสูงด้านสังคม ควรตั้งหน่วยงานกลางหรือคณะทำงานกลางเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบอย่างจริงจังในทันที หากปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนาน จนกระทั่งมีการพัฒนา การใช้ที่ดินในเขตแนวช่องทางผันน้ำมากขึ้นจะไม่อาจดำเนินโครงการได้ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการช่องทางผันน้ำท่วมของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา บริเวณชุมชนหาดใหญ่ตามพระราชดำริ ซึ่งเสนอให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2531 แต่ไม่มีการดำเนินการ เมื่อเกิดอุทกภัยปี 2543 จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนและเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
ถ้าเหตุการณ์อุทกภัยเช่นปี 2538 เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกครั้งในอนาคต และไม่สามารถบริหารจัดการอุทกภัยได้จะทำให้เกิดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเศรษฐกิจรวมของประเทศอย่างรุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นที่ชุมชนหาดใหญ่ยิ่งนัก
ท้ายที่สุด ขณะที่ยังไม่สามารถจัดทำโครงการใดๆ เนื่องจากยังขาดแคลนงบประมาณและการยอมรับจากสังคม หากเกิดภาวะแล้งเช่นช่วงปี 2533-2537 ขึ้นอีก ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงและปรับปรุงการปลูกพืชให้มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมที่จำเป็นก่อน
หากเกิดภาวะอุทกภัยดังเช่นปี 2538 หรือใหญ่กว่า ควรแก้ไขด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมตามความจำเป็น (แก้มลิงธรรมชาติของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขา) พร้อมกำหนดแนวทางการตอบแทนผู้ที่ไดรับความเสียหายให้ชัดเจนและเหมาะสม
เรียนผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มนตรี จันทวงศ์ - [ 26 ธ.ค.45, 10:28 น. ] ที่ คฟธ.(เหนือ) ๐๑/๒๕๔๕16 ถนนเทพสถิตย์ ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ 50200 ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เรื่อง โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียน ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เอกสารที่ส่งมาด้วย ๑.(สำเนา) ฎีกา กรณีความเดือดร้อนของราษฎรจากโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ และเอกสารประกอบฎีกาชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ๒.หนังสือขอให้ ระงับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ของราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ หมู่ที่ ๘ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ด้วยโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานพัฒนาเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม จำนวนหนึ่ง ภายใต้ชื่อ "เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม" โดยโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ดำเนินการติดตามศึกษาการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับแนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐบาล สถาบันวิจัยอิสระและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งการติดตามศึกษาในระดับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำที่ตั้งอยู่บนหลักของความ เป็นธรรม ความเสมอภาค การมีส่วนร่วมและความยั่งยืนของทั้งทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศวิทยาและประชาชนในท้องที่ต่างๆ ในระดับนโยบายการบริหารจัดการ น้ำของรัฐ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติพบว่า แนวนโยบายใหม่ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิเช่น การคิดค่าคืนทุนระบบชลประทาน, การจัดตั้งกองทุนน้ำ, การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำและการเสนอร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการใช้น้ำในภาคเกษตร เป็นแนวนโยบายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในเชิงเนื้อหาและความเป็นอิสระของภาครัฐในการกำหนดนโยบายเหล่านี้ จนถึงปัจจุบันปัญหาในข้อถกเถียงต่อแนวนโยบายการจัดการน้ำใหม่ ยังไม่มีข้อยุติในสังคมไทย ในระดับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติได้ดำเนินการติดตามศึกษาโครงการผันน้ำ กก-อิง-น่านในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าเป็นโครงการด้านการชลประทานที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าโครงการสูง ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นโครงการที่จะสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนและระบบ นิเวศน์วิทยาตลอดแนวผันน้ำอย่างมหาศาล ในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ราษฎรในพื้นที่โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ได้เรียกร้องให้กรมชลประทานทบทวนและยกเลิกโครงการผันน้ำกก-อิง-น่านมาโดยตลอด และยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับกรมชลประทานจนถึงปัจจุบัน และรวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกหลายโครงการที่ยังคงมีปัญหาระหว่างราษฎรใน พื้นที่กับกรมชลประทานที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ อาทิเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน (จ.เชียงใหม่), โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (จ.แพร่) อย่างไรก็ตามในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการ และพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งนำเสนอโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยข้อเสนอแผนงานของโครงการฯ ทั้งที่เป็นมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างนั้น ส่วนหนึ่งคือประเด็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ระหว่างราษฎรกับหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ใคร่ขออนุญาตนำเสนอข้อคิดเห็นในบางแง่มุม ที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหา อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวนี้ โดยจะนำเสนอตามลำดับดังนี้ โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน (จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.น่าน) ๑. การพัฒนาโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ได้ปรากฏกระแสข่าวลือเรื่อง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทั้ง ๓ จังหวัด เพื่อหวังผลให้ราษฎรไม่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านโครงการ ๒. ราษฎรได้แสดงเจตจำนงขอให้กรมชลประทานยุติโครงการหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๑ ทั้งโดยการยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและอธิบดีกรมชลประทานเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๓ และการประชุมร่วมกับกรมชลประทานใน ๓ จังหวัดในโอกาสต่างๆกัน นอกจากนี้ราษฎรยังได้จัดพิธีกรรมความเชื่อของชุมชนล้านนาเพื่อรักษาแม่น้ำ ได้แก่การจัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำและพิธีส่งขึดโครงการผันน้ำ แต่กรมชลประทานยังคงดำเนินการต่อไปโดยเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนและข้อเรียก ร้องของราษฎร ๓. ราษฎรได้ดำเนินการถวายฎีกา ต่อท่านราชเลขาธิการเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ทราบว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและ พัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ๔. ผู้แทนกรมชลประทานที่ร่วมในโครงการจัดทำกรอบฯ เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้แทนกรมชลประทานที่ได้รับฟังความเดือดร้อนและข้อ เรียกร้องของราษฎรมาล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๕. รายชื่อผู้เชี่ยวชาญบางท่าน คือบุคคลที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งรับจ้างกรมชลประทานจัดทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของโครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน ดังนั้นการที่โครงการผันน้ำถูกเสนอเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในบางระดับ ในความพยายามผลักดันโครงการผันน้ำภายใต้กรอบของโครงการใหญ่ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน (จ.เชียงใหม่) และโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (จ.แพร่) ๑. ในกรณีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน เป็นโครงการที่นำเสนอโดยสำนักชลประทานเขต 1 จ.เชียงใหม่ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กลไกของคณะอนุกรรรมการฯเป็นกลไกที่ยังคงรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่ระบบ ราชการเพียงฝ่ายเดียว ในการพิจารณาเสนอเห็นชอบโครงการเขื่อนแม่ขานของคณะทำงานลุ่มน้ำย่อยแม่ขาน ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง ไม่มีองค์ประกอบของราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ได้แก่บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งต้องถูกอพยพออกจากถิ่นฐานเดิม เข้าร่วมในการประชุม และแผนดังกล่าวถูกบรรจุในแผนพัฒนาลุ่มน้ำปิง ในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ๒. ในขณะเดียวกันได้ปรากฏกระแสข่าวลือเข้าไปในหมู่บ้านว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง กระแสข่าวลือดังกล่าวนี้ได้บั่นทอนขวัญและกำลังใจของราษฎรในหมู่บ้านเป็น อย่างมาก ในโอกาสนี้ราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ ใคร่ขอถวายจดหมายพร้อมรายชื่อของราษฎรทั้งหมดมายังฯพณฯองคมนตรี เพื่อได้ทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร (ซึ่งได้แนบมาเป็นเอกสารประกอบ) ราษฎรบ้านแม่ขนิลใต้ เคยทำจดหมายร้องเรียนไปยัง อบต.น้ำแพร่ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๒ ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่ขาน ๓.ในรายชื่อคณะทำงานของโครงการดังกล่าว นี้ ได้ปรากฏรายชื่อผู้เชี่ยวชาญบางท่าน ซึ่งทำงานในบริษัทที่ปรึกษา อันเป็นบริษัทเดียวกัน ที่ศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขานเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๘ ๔. ในกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ บริษัทที่ปรึกษาเดียวกันนี้ได้รับการว่าจ้างจากกรมชลประทานให้ดำเนินการออก แบบก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน โดยสรุปแล้วการดำเนินการตาม กรอบ โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้า พระยา อาจจะส่งผลในด้านลบต่อสำนักงานทรัพย์สินฯและอาจจะกระทบต่อเนื่องที่ไม่อาจ ควบคุมได้ อย่างน้อยใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑. จากสภาพของข้อเท็จจริงในบางพื้นที่ ได้ปรากฏกระแสข่าวลือในเรื่อง "เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" มาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อโครงการจัดทำกรอบฯมีสถานภาพเป็นมติครม.เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงน่าเป็นห่วงต่อการนำไปปฏิบัติใช้จริงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุก หน่วยงาน ที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่ราษฎรในพื้นที่ต่อสถานภาพของโครงการนี้อย่างเป็นจริง ๒. ในกระบวนการพัฒนาโครงการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนราชการจำนวนมาก ต่างก็ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างทั้งในโครงการสร้างเขื่อนและ โครงการผันน้ำ แต่ปรากฏว่าโครงการต่างๆที่ยังคงมีปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรทั้ง หมดถูกบรรจุไว้ในโครงการจัดทำกรอบฯ ดังกล่าว ๓. คณะทำงานของโครงการจัดทำกรอบฯ บางท่าน มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกำลังศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับกรมชลประทาน อาทิเช่น โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน, โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น, โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ดังนั้นข้อเสนอมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง จึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่องานของบริษัทที่ปรึกษาที่เสนอต่อกรมชล ประทาน อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการจัดทำกรอบฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพราะข้อเสนอทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการเชิงนโยบาย(ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง)และ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งนั้น ยังมีปัญหาไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ราษฎร และบางส่วนเป็นปัญหาระดับนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการเสนอ โครงการ ธ ประสงค์ใด ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติอาจจะมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต่อราษฎร ในอันที่จะได้รับทราบข้อมูลว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายติดตามมาในภายหลังยากที่จะแก้ไขได้ แต่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่ได้นำเสนอ ดังกล่าวนี้ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ใคร่ขอกราบเรียนในประเด็นปัญหาทั้งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นใน อนาคต จากโครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ เจ้าพระยา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะได้ให้ความกรุณาพิจารณาประเด็นปัญหาที่ได้เรียนนำเสนอนี้ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง (นายมนตรี จันทวงศ์) ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ(ภาคเหนือ) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม |