วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดศักราช 2553 คุยกับคนสร้างสื่อใหม่ ตอนที่ 3 Bangkok Pundit Mon, 2010-01-25 18:18

 

เปิดศักราช 2553 คุยกับคนสร้างสื่อใหม่ ตอนที่ 3 Bangkok Pundit

ความตื่นตัวของการมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านโลกออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารและการแสดงพลังทางสังคมของผู้คนทั้งในประเทศไทยและระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนของ citizen journalist  หรือ cyber activist ที่คืบคลานเข้ามาสู่โลกแห่งการสื่อสารแบบใหม่นี้ ไม่ว่าคุณจะสนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยความหวาดระแวงคลางแคลงใจ หรือชื่นชมยินดีก็ตาม มันก็เข้ามามีบทบาทในโลกจริงแล้วอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นตัวอย่างชั้นดีของการตอบสนองจากรัฐต่อช่องทางการสื่อสารใหม่นี้ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์หลักของประเทศต้องปรับกลยุทธ์แบ่งสรรเนื้อหาออนไลน์กับฉบับตีพิมพ์อย่างชัดเจน หลังยอดขายเริ่มส่งสัญญาณในทางลบ

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงเรื่องผลตอบแทน หากแต่วัฒนธรรมใหม่ที่มาพร้อมอินเตอร์เน็ตคือ ไม่มีใครเป็นผู้ยึดกุมความถูกต้อง สิ่งนี้ท้าทายขนบธรรมเนียมการสื่อสารแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่เชื่อว่าสื่อสามารถกำหนดวาระทางสังคม ปรากฏการณ์ข่าวเจาะจากเว็บพันทิปโดยผู้เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่า ผู้เล่นอินเตอร์เน็ตสามารถกำหนดวาระสื่อได้เช่นกัน

ประชาไทเปิดศักราชใหม่ด้วยการแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าคนทำสื่อในโลกไซเบอร์ ว่าเขานิยามการทำงานของตัวเองอย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดันให้หันมาใช้สื่อใหม่เหล่านี้ เขามีข้อสังเกตอะไรบ้างต่อพื้นที่ออนไลน์ และมันช่วยเติมเต็มเสรีภาพในการสื่อสารได้จริงหรือไม่ เพียงใด

000

บล็อก เป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดใหม่ที่เกิดมาได้หลายปี ทั้งถูกใช้เป็นไดอารีระบายความในใจเรื่อยไปถึงขั้นเป็นพื้นที่สื่อสารสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมแล้วแต่ผู้ใช้งานประสงค์จะให้มันเป็นและในบางประเทศก็ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาไทสนทนากับผู้ก่อตั้งบล็อกภาษาอังกฤษที่อุดมไปด้วยข่าวสารในประเทศไทยhttp://www.asiancorrespondent.com/bangkok-pundit-blog ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แต่เลือกเรียกชื่อแทนตัวเองว่า Bangkok Pundit หรืออย่างย่อๆ ว่า BP เขาติดตามเรื่องราวในการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดในฐานะคนทำวิจัยคนหนึ่ง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของ BP นั้นดูเหมือนจะถูกยึดกุมด้วยความเป็นไปทางการเมืองไทยและสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในไทยโดยแต่ละประเด็นที่ BP เลือกมานำเสนอนั้น เป็นเรื่อง "ฮอต" ในกระแสชนิดหายใจรดต้นคอทั้งสื่อกระแสหลักและกระแสทางเลือกของไทยกันเลยทีเดียว แน่ล่ะ เพราะข่าวสารที่เขานำเสนอนั้น ส่วนใหญ่เป็นการแปลมาจากสื่อภาษาไทยโดยตรงบล็อกของเขาจึงเป็นเสมือนพื้นที่ให้กับผู้ที่ไม่สันทัดภาษาไทยทั้งหลายซึ่งต้องการติดตามสถานการณ์ในแบบที่คนไทยได้รู้

เจ้าของบล็อกอ้างอิงแหล่งที่มาในทุกๆ ข่าวที่นำมาโพสต์ และโพสต์ความเห็นของตัวเองลงไปท้ายข่าวเสมอๆ โดยกำกับส่วนที่เป็นความเห็นของตัวเองไว้หน้าข้อความว่า "BP:" ซึ่งเป็นจุดสนใจอย่างหนึ่งของคนที่ติดตามข่าวสารจากบล็อกแห่งนี้

ประชาไทพูดคุยกับเขาในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งผู้สนใจความเป็นไปในประเทศไทยถึงขั้นที่ทำบล็อกออกมาเป็นภาษาอังกฤษให้คนที่ไม่ถนัดภาษาไทยได้ติดตามข่าวเมืองไทยด้วยเนื้อหาไทยๆ จากสื่อไทยเอง

เขาค่อนข้างระมัดระวังตัวและขอไม่เปิดเผยตัวรวมถึงไม่ตอบในบางคำถามที่เราถาม เราคุยกันผ่านอีเมล์ ประชาไทขอคงบรรยากาศการสนทนากับ BP ไว้ดังที่ปรากฏในต้นฉบับอีเมล์

ประชาไท: ทำไมคุณจึงให้ความสำคัญกับเรื่องราวในเมืองไทยถึงขนาดที่สร้างบล็อกบางกอกบัณฑิต คุณมองเห็นจุดอ่อนของสื่อภาคภาษาอังกฤษที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยหรือเปล่า
BP: 1 หากจะไปเทียบกับหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาไทย BPไม่พอใจสื่อที่นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษคือ เดอะเนชั่น และบางกอกโพสต์เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพราะจะมีหลายประเด็นที่สื่อในภาษาไทยพูดถึง แต่ไม่มีการพูดถึงในสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ BPก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร แต่คิดว่าบางประเด็นที่สื่อภาษาไทยพูดถึงจะมีข้อมูลที่น่าสนใจและจะทำให้คนต่างชาติเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เริ่มทำบล็อกบางกอกบัณฑิต

2. ในปี 2548 ที่ BP เริ่มตั้งบล็อกขึ้นมา BPกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการเมืองไทยในขณะนั้น รวมทั้งเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้ ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวผ่านการเขียนทุกวัน จึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ BPสามารถพัฒนาตนเองทางด้านการเขียนอีกทางหนึ่งด้วย บางทีสิ่งที่เขียนในบล็อกอาจจะถือว่าเป็นร่างของงานวิจัยของ BP และหากได้เขียนลงไปก็จะได้ feedback อีกด้วย โดยผู้อ่านจะ comment ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเสนอมุมมองด้านอื่นๆ ในหัวข้อที่ BP เขียน

ประชาไท: คุณจะอธิบายว่า "บางกอกบัณฑิต" คืออะไร เป็นสื่อหรือเปล่า หรือเป็น New Media หรือเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคุณ
BP: ความจริงอยากจะอธิบายว่าทำไม BP จึงตั้งชื่อบล็อกว่า bangkokpundit

1. pundit ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็น อันที่จริง น่าจะตั้งชื่อเป็น thailandpundit เนื่องจากเป็นบล็อกที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทย ไม่ใช่แค่ bangkok ที่เดียว แต่คำว่า บัณฑิต ในภาษาไทย หมายถึง ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญา ซึ่งเป็นคำที่คนไทยใช้กันและมีความหมายเดียวกันกับภาษาอังกฤษ ตามรากศัพท์ดั้งเดิม BP จึงเห็นว่าเป็นคำที่มีความหมายตามที่ BP อยากให้ผู้อ่านเข้าใจ

2. BP ไม่ทราบว่า bangkokpundit จะเป็นสื่อใหม่หรือไม่ แต่ bangkokpundit ก็เป็นบล็อกที่ให้ทั้งข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทย และสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประชาไท: จำนวนคนที่เข้ามาชมบล็อกของคุณมีประมาณเท่าไหร่ และในช่วงเวลาไหนหรือในสถานการณ์ใดที่จำนวนคนเข้าชมเพิ่มสูงขึ้น
BP:  ตั้งแต่ย้ายบล็อก จึงไม่ทราบจำนวนคนที่เข้ามาดู แต่จำนวนครั้งที่คนเข้ามาดูนั้นจะเฉลี่ยประมาณ 5,000 ครั้งต่อวัน หากเป็นเสาร์ และอาทิตย์ จำนวนจะเฉลี่ยที่ 2,000 -3,000 ครั้งต่อวัน

แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองร้อน เช่น ตอนที่พันธมิตรยึดสนามบิน จำนวนครั้งที่คนเข้ามาดูนั้นถึงหลักหมื่นต่อวัน

ประชาไท: คุณเคยถูกคุกคามโดยหน่วยงานของรัฐบ้างหรือไม่ และเคยโดนโจมตีทางเทคนิคบ้างหรือไม่ บ่อยแค่ไหน
BP: ไม่เคย แต่อาจจะมีบ้างที่ผู้เข้ามาชมเขียนด่า หรือข่มขู่ แต่ BP ก็ไม่ได้สนใจ

ประชาไท: คุณมักจะมีความเห็นตบท้ายข่าวที่คุณนำเสนอ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการนำเสนอข่าวสาร ทำไมคุณจึงเสนอความเห็นของตัวเองในตอนท้ายของข่าวต่างๆ (สื่อทั่วไปอธิบายว่า ผู้สื่อข่าวมีหลักการว่าจะไม่เสนอความเห็นของตัวเองลงไปในข่าวสาร)
BP: เพราะว่าอยากจะแยก fact กับ opinion จึงนำเสนอความคิดเห็นตอนท้าย และจะนำหน้าด้วย BP เพื่อย้ำว่าเป็นความคิดเห็นของ BP เอง   และ BPก็ไม่เชื่อว่าผู้สื่อข่าวอื่นๆไม่นำเสนอความคิดเห็นในข่าวสารเช่นกัน

ประชาไท: คุณคิดว่าบล็อกของคุณมีส่วนในการสร้างพื้นที่เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือไม่ หรือมีส่วนในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เสพข่าวสารในเมืองไทยหรือไม่
BP: ไม่ทราบ เพราะ BP ไม่สามารถให้คำวิจารณ์ตัว BP ได้ หากแต่ต้องเป็นบุคคลภายนอกมองเห็นว่าบล็อกของ BP เป็นอย่างไร

ประชาไท:  คุณมอนิเตอร์ข่าวในเมืองไทยเยอะมากในแต่ละวัน และสามารถอัพโหลดบล็อกได้เกือบทั้งวัน คุณทำได้อย่างไร คุณถือว่าบล็อกนี้เป็นงานหลักของคุณหรือเปล่า มีผู้อ่านมากมายที่สงสัยว่าคุณทำงานอะไรเป็นหลัก และทำไมจึงสามารถให้เวลากับบล็อกได้มากขนาดนี้
BP: 1. ที่มองว่าอัพโหลดบล็อกทั้งวันนั้น ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของบล็อกที่จะโพสต์นั้น จะทำไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นการโพสต์ตรงเวลาที่ 6 นาฬิกา หรือ 7 นาฬิกา เป็นต้น แต่ไม่ใช่ว่า BP จะนั่งรอเพื่อโพสต์ในเวลานั้น แต่มีการตั้งการโพสต์ไว้เป็นอัตโนมัติ

2. เนื่องจาก BP มีความสนใจในการทำบล็อกนี้อย่างมาก และถือว่าเป็นงานอดิเรก เหมือนคนที่ติดการเล่นเว็บ อย่างเช่น facebook หรือ เว็บอื่นๆ ใช้เวลาเล่นเว็บนั้นเป็นหลายๆชั่วโมงได้ แต่ BP จะใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์และนำมาเขียนบล็อก

ประชาไท: ในความเห็นของคุณข่าวใดเป็นข่าวที่สำคัญมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เพราะเหตุใด
BP: ตอนช่วงเวลาสงกรานต์ปีที่แล้ว ที่เกิดเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดง

ประชาไท: สำหรับปี 2553 ประเด็นไหนบ้างจะเป็นประเด็นที่คุณจับตามอง และนำเสนอในบล็อก ขอตัวอย่าง 3 ประเด็นแรกที่คุณเห็นว่าสำคัญที่สุด
BP: 1. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
2. การยึดทรัพย์ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และ หลังจากนั้นพันตำรวจโททักษิณและเสื้อแดงจะทำอะไรต่อไป
3. ปีนี้ นายกฯอภิสิทธิ์ จะยุบสภาหรือไม่

ประชาไท: มีการพูดกันว่าสิทธิเสรีภาพสื่อลดลง คุณรู้สึกเช่นนั้นด้วยไหม เช่น ระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกประเด็นมานำเสนอ
BP: BP ไม่ได้คิดว่าสื่อโดยทั่วไป และสื่อทางอินเตอร์เน็ตมีสิทธิเสรีภาพลดลง  แต่ไม่ได้บอกว่ามากขึ้นหรือมีเสรีภาพจริง เพราะ BP คิดว่าไม่ได้มีเสรีภาพจริงมานานแล้ว หากแต่ช่วงเวลานี้เหมือนเป็นช่วงเวลาทดสอบ ว่าสื่อมีเสรีภาพในการที่จะนำเสนอมากแค่ไหน

แต่บางมุมมอง อาจเห็นว่าสื่อมีเสรีภาพลดลง เพราะในยุค twitter แบบนี้ ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถปิดบังได้  เช่น คนที่ใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ทถูกจับเข้าคุก หรือถูกข่มขู่ ภายในไม่ถึงชั่วโมงก็กลายเป็นประเด็นร้อน มีคนตั้งกระทู้ เขียน twitter ทำบล็อกในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้คนคิดว่าสื่อมีสิทธิเสรีภาพลดลง

ประชาไท: คุณคิดว่าพื้นที่ทางอินเตอร์เน็ตจะเป็นพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความเห็นให้คนไทยได้ไหม หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และรัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการมอนิเตอร์พื้นที่ออนไลน์
BP: ได้ แต่มีบางเรื่องที่น่ากลัว เช่น ที่คุณจีรนุชถูกจับ หรือคนที่แปลข่าวของสำนักงานข่าว Bloomberg ถูกจับ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่น่ากลัวมากที่สุด เพราะว่าในขณะที่ ข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษยังไม่ถูก blocked และคนก็ยังเข้าไปอ่านได้ พอแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ผู้ที่นำเสนอข่าวก็โดนจับ และไม่ใช่จับแบบธรรมดา แต่เป็นการจับที่สนามบินพร้อมเรียกสื่อมา ถ่ายรูป นำเสนอภาพและชื่อลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่ง BP คิดว่านี่เป็นการเตือนว่าหากคุณแปลข่าวที่ไม่ควร คุณก็จะโดนแบบเดียวกัน

ประชาไท: จากการที่คุณมอนิเตอร์สื่อไทยจำนวนมาก คุณมองว่าคุณภาพของสื่อไทยเป็นอย่างไรทั้งในเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริง และความมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร
BP: BP คิดว่าคุณภาพของสื่อไทยห่วย 
1. สื่อไทย ไม่ค่อยอ้างว่าได้ข้อมูลมาจากที่ไหน มักจะพูดว่า "มีรายงานว่า" โดยไม่ระบุว่ามาจากใคร สื่อไหน หรือผู้ใด และพอหนังสือพิมพ์บางฉบับลงข่าวไป อีกฉบับก็เหมือนลอกกันมา และข้อมูลก็กระจายออกไป โดยไม่ทราบว่าข้อมูลนั้น แท้จริงมาจากไหน

2. หากลงข้อมูลผิด จะไม่มีการทำ Correction เพื่อแก้ไข จะมีน้อยมากที่จะทำ ซึ่งเหมือนกับว่าไม่มีใครจะไปเช็ค fact เลยว่ามีความจริงแค่ไหน และในเมื่อว่าคนเขียน รู้ว่าไม่มีใครจะไปเช็ค fact ก็เลยคิดว่าเขียนมั่วได้ ก็เลยมั่วกันหมด คนที่เขียนวิเคราะห์ก็มั่วตามกันไปอีก

3. เวลาคนในข่าวพูดอะไร ก็จะลงสิ่งที่คนนั้นพูด โดยไม่มี fact check  หากคุณนาธาน โอมาน บอกจบจากฮาร์เวิร์ด หนังสือทุกฉบับก็จะเขียนบอกว่าจบจากฮาร์เวิร์ด แต่ก็จะไม่มีใครไปเช็คก่อน และหากว่าไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ยากที่จะมาทำ correction และถ้าไม่มีคนมาป้อนข้อมูลถึงปาก คนเขียนก็คงจะไม่มีงานทำ เพราะไม่ได้คิดจะออกไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง
การทำ fact check ไม่ได้เป็นการนำเสนอความคิดเห็น แต่หมายถึงการเสนอข่าวอย่างรอบคอบ

ประชาไท: ขณะนี้ในเมืองไทยมีการพูดวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ และสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นสื่อเลือกข้าง หรือเป็นสื่อที่รับใช้แนวคิดทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดง คุณมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับภาวะของสื่อไทยแบบนี้ มันช่วยส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้นไหม หรือว่ามันลดทอนคุณภาพเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร
BP: ไม่ตอบ

ประชาไท:  "ฝรั่ง" หลายคนที่ติดตามเรื่องราวในเมืองไทย มักจะพยายามประเมินว่าเมืองไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ บางคนก็บอกไม่เกิน 3 ปี บางคนบอกไม่เกิน 5 ปี บางคนก็บอกภายใน 20 ปี คุณล่ะ ประเมินว่าเมืองไทยจะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนไปไหม และเปลี่ยนไปอย่างไร และในช่วงเวลาใกล้หรือไกลแค่ไหน
BP: ขออนุญาตไม่ออกความเห็น

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น