นอกจากนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ผลการใช้งานว่าได้ผลจริงหรือไม่ กรมฯ จึงได้วิเคราะห์คุณภาพน้ำหลังจากใส่น้ำหมักชีวภาพ พด.6 ในพื้นที่สำนักเขตพัฒนาที่ดินเขต 1,8 และ 9 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุโขทัย และอุทัยธานี จำนวนจุดเก็บตัวอย่าง 258 จุด พบว่าคุณภาพน้ำในภาพรวมดีขึ้น และแหล่งน้ำส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสี กลิ่นและความขุ่น ความเป็นกรดด่าง (pH) ระหว่างก่อนใส่และหลังใส่น้ำหมักชีวภาพ พด.6 มีความแตกต่างกันน้อยมาก ส่วนปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำ (DO) มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากในการบำบัดน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาวิจัยและผลิตสารเร่ง พด.6 ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย ลดกลิ่นเหม็นคราบไขมันตามท่อระบายน้ำและคอกปศุสัตว์ โดยนักวิจัยของกรมพัฒนาที่ดินได้คัดแยกเชื้อจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยเฉพาะการย่อยสลายโปรตีน ไขมัน และเศษพืช เพื่อนำมาผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น
วิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.6 สามารถดำเนินการผลิตโดยใช้สารเร่ง พด.6 ของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน 1 ซอง (25 กรัม) ละลายกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ในน้ำ 50 ลิตร และสับปะรด 5 กิโลกรัม และหมักในที่ร่มเป็นเวลา 5-7 วัน โดยน้ำหมักชีวภาพที่หมักสมบูรณ์แล้วต้องมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ไม่เกิน 4.0 สำหรับสัดส่วนการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.6 ต่อน้ำเสีย 1:10,000 หรือใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.6 ปริมาณ 80 ลิตร ต่อการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ 1 ไร่ ที่ระดับความลึกของน้ำ 50 เซนติเมตร
แม้ว่า เหตุการณ์อุกทกภัยได้ผ่านพ้นไปแล้วแต่กรมพัฒนาที่ดินยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น สำหรับเกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่หมอดินอาสา หรือสถานีพัฒนาที่ดินใกล้บ้านท่าน หรือโทรสายด่วน 1760
หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 01:48:05 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น