วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บริจาคช่วยเหลือได้ทางบัญชีชื่อ มูลนิธิพิพิธพัณฑ์แรงงานไทย บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 101-7-97864-2 ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่

วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:05 น.

ก.แรงงานตั้งท่าของบรัฐอุ้มลูกจ้างถูกน้ำท่วมจ่าย 3 เดือนๆ ละ 3,000 บาท

Share8




กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอรัฐบาลของบช่วยเหลือโครงการรักษาสภาพการจ้างลูกจ้าง 6 พันล้านบาท ครอบคลุมลูกจ้างในสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย 6 แสนราย 

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าววันที่ 18 ตุลาคมว่า ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานมีมติ จะจัดทำประมาณการการสนับสนุนเงินแก่สถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการเพื่อรักษาสภาพการจ้างลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมไปสักระยะหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแก่นายจ้างที่จะเข้าโครงการก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า นายจ้างที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐจะนำเงินนี้ไปรักษาสภาพการจ้างงานให้กับลูกจ้างที่ประสบภัย 
 
ในเบื้องต้น ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลจำนวนเงิน 5-6 พันล้านบาท เพื่อมอบให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรักษาสภาพการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปดูแลลูกจ้างที่ประสบภัยในครั้งนี้ เป็นระยะเวลา 3 เดือนๆ ละ 3,000 บาทต่อราย ซึ่งคาดว่ามีลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ประมาณ 6 แสนคน

 

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานยังไม่ได้ระบุว่า จะนำข้อเสนอนี้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อไร

 

อีกด้านหนึ่ง สำหรับผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส) ได้ขอความร่วมมือกับสถานพยาบาลประกันสังคมให้บริการการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยและไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์  ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์จากผู้ประกันตนได้ โดยให้สถานพยาบาลเบิกค่าบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ เขตพื้นที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่โดยตรง และสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดสาขา/ที่ท่านสะดวกหรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

 

โดยนโยบายของสำนักงานประกันสังคมดังกล่าวได้รับการขานรับจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งน.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า มีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 40 แห่งสำหรับผู้ประกันตนและที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แบ่งเป็น 4 โซน 
 
โซน 1 จ. นนทบุรี  รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ ,รพ.วิภาราม - ปากเกร็ด    จ.ปทุมธานี   รพ.แพทย์รังสิต, รพ.ภัทร-ธนบุรี , รพ.เอกปทุม ,  รพ.นวนคร ,   รพ.ปทุมเวช  จ.พระนครศรีอยุธยา   รพ.ราชธานี ,   รพ.ศุภมิตรเสนา ,    รพ.นวนคร อยุธยา  จ.   สระบุรี  รพ.เกษมราษฎร์ สระบุรี

 

โซน 2   ฉะเชิงเทรา  รพ.จุฬารัตน์ 11  ,   รพ.โสธราเวช   กรุงเทพตะวันออก   รพ.สายไหม ,   รพ.นวมินทร์ 1 ,   รพ.นวมินทร์ 9 ,   รพ.บี.แคร์ ,  รพ.ลาดพร้าว ,รพ.วิภาราม  ,รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 , รพ.จุฬารัตน์ 3, รพ.จุฬารัตน์ 9 , รพ.บางนา 2 , รพ.รวมชัยประชารักษ์ 

 

โซน 3   แถบตะวันตก  รพ.มหาชัย 1  , รพ.มหาชัย 2  , รพ.แม่กลอง , รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล   รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ,  รพ.เกษมราษฎร์ บางแค , รพ.บางไผ่ , รพ.นครธน , รพ.บางมด , รพ.บางปะกอก 9 

 

โซน 4   สมุทรปราการ  รพ.สำโรงการแพทย์ , รพ.เมืองสมุทร , รพ.เมืองสมุทรปู่เจ้า , รพ.เปาโลสมุทรปราการ , รพ.รัทรินทร์ ,รพ.ศิครินทร์,  รพ.บางนา 1 
 
ขณะที่ "ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เสนอให้กองทุนประกันสังคมใช้กลไกการประกันการว่างงานในการช่วยเหลือลูกจ้างที่ต้องหยุดงานเพราะสถานประกอบการหยุดดำเนินการเพราะภัยน้ำท่วม และเป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เคยสมทบเงินประกันสังคมมาก่อน ไม่ใช่ลูกจ้างทั่วไป โดยให้สถานประกอบการในเขตน้ำท่วมแจ้งแก่สำนักงานประกันสังคมถึงจำนวนวันที่หยุดดำเนินงาน เพื่อใช้ในการคำนวณเงินชดเชยกรณีว่างงาน
 
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทุนประกันการว่างงานมีเงินสะสมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้สะสมไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกงานด้วยเหตุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ หรือโรงงานต้องหยุดดำเนินการเพราะภัยพิบัติ ถ้าเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ลูกจ้างตกงานชั่วคราวประมาณ 2 แสนคน กองทุนประกันสังคมจะต้องใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อจ่ายเงินชดเชยประมาณ 30 วันให้แก่ผู้ตกงานเหล่านั้น เงินชดเชยนี้เป็นสิทธิของผู้ประกันตนที่สมทบทุกเดือนเพื่อประกันการว่างงาน และการว่างงานด้วยเหตุภัยพิบัติเป็นเหตุที่กองทุนประกันการว่างงานควรที่จะคุ้มครอง ด้วยเงินชดเชยเป็นเงินไม่มาก คือร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาภาระด้านการเงินได้ระดับหนึ่ง

 

ด้านเครือข่ายแรงงานไทยได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อแรงงาน โดยเป็นตัวกลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการขอระดมรับบริจาค สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น ตามศูนย์แรงงานกลุ่มย่านสหพันธ์แรงงานและสมาพันธ์แรงงาน จำนวน 10 ศูนย์ หรีอบริจาคช่วยเหลือได้ทางบัญชีชื่อ มูลนิธิพิพิธพัณฑ์แรงงานไทย บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่ 101-7-97864-2 ธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่สีลม โดยสิ่งของที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมดจะนำไปมอบให้ผู้ใช้แรงงาน ในวันที่ 24 ตุลาคมนี้


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1318946629&grpid=03&catid=00

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น