วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียน 3 มหานคร เวนิส อัมสเตอร์ดัม กัวลาลัมเปอร์ ก่อนก้าวสู่ยุค "วอเตอร์ เวิลด์"

 
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 08:18:31 น.

ถอดบทเรียน 3 มหานคร เวนิส อัมสเตอร์ดัม กัวลาลัมเปอร์ ก่อนก้าวสู่ยุค "วอเตอร์ เวิลด์"

Share8



โดย รัชนีกร แสงขาว




บ้านลอยน้ำ

กว่า 3 เดือนแล้ว ที่มวลน้ำที่ไม่ได้รับเชิญ ได้โจมตีที่ราบลุ่มตอนกลางของประเทศไทยอย่างสาหัส ความพยายามที่จะปกป้อง และกอบกู้แหล่งเกษตรกรรม ฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคม ถูกฝากความหวังไว้กับโชคชะตา ที่ต้องเสี่ยงกับระดับ น้ำขึ้นน้ำลง 

ปีที่แล้วองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก เผยรายงานการศึกษาภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศใน 11 เมืองใหญ่ในเอเชียที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ระบุว่า 

กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความเปราะบางมากเป็นอันดับ 5 ใน 11 เมืองเนื่องจากที่ตั้งของเมืองอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 2 เมตรเท่านั้นขณะที่ระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทย จะสูงขึ้นอีก 10-100 เซนติเมตร ภายใน 50 ปีจากนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คนเกือบ 12 ล้านคน ในพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพฯ เสี่ยงต่อการจมน้ำ

การเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำอย่างชาญฉลาด จึงไม่อาจถูกเพิกเฉยไปได้เลย

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ยกตัวอย่าง กระบวนการคิดเพื่ออยู่กับน้ำ โดยยกตัวอย่าง 3 เมืองใน 3 ประเทศ คือ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่เป็นเหมือนโมเดลของการปรับตัว ปรับวิธีคิด และปรับชีวิต เพื่ออนาคต ได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุด ณ ปัจจุบัน 

เวนิส ′ชีวิตกับน้ำขึ้นน้ำลง′

ระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลง เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับชาวเมืองเวนิส โดยเฉพาะในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2509 หลังฝนกระหน่ำไม่กี่ชั่วโมง ระดับน้ำก็ขึ้นสูงจากระดับปกติ 194 เซนติเมตร เป็น 264 เซนติเมตร ส่งผลให้น้ำท่วมขังนานถึง 48 ชั่วโมง

โดยเฉพาะที่จตุรัสซานมาร์โค จุดต่ำสุดของเมือง เมื่อตอนสร้างห้องใต้ดินของวิหารอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.5 เมตร ปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 18 เซนติเมตร

สภาวิจัยเรื่องน้ำของเมือง ระบุสาเหตุที่น้ำท่วมผิดปกติว่า เป็นเพราะความกดอากาศต่ำและลมหนุน 

ภาพถ่ายทางดาวเทียมได้เผยให้เห็นเมืองที่อาจจะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ โครงการ MOSE (Experimental Electromechanical Module) จึงเกิดขึ้น เป็นการสร้างประตูเหล็กขนาดยักษ์ 78 บานกั้นบริเวณปากน้ำ และใช้พลังของระดับน้ำเป็นตัวรับส่งให้เป็นประตูกลอิสระ โดยประตูจะยกตัวได้สูงสุด 3 เมตร และโยกตัวตามกระแสน้ำ พร้อมทั้งออกแบบไม่ให้รบกวนการไหลเวียน ของน้ำ ซึ่งมีระดับน้ำขึ้นลงวันละ 2 รอบ และหมายถึงการรักษาสมดุลให้แก่ระบบนิเวศของลากูนด้วย 

โครงการดังกล่าวมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปี 2014 โดยมีสถาปนิกอย่าง Adrea Rinaldo จากมหาวิทยาลัยปาร์ดัวร์ และ Chiang C.Mei จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ทำงานร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ที่เคยจัดทำโครงการกำแพงกั้นน้ำในเมืองรอตเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ สำเร็จในปี 1997 

(บน) วิหารซานมาร์โค ในเวนิช ตอนสร้างห้องใต้ดินสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1.5 เมตร ปัจจุบันต่ำกว่า 18 เซนติเมตร (ล่าง) อุโมงค์น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย



รัฐบาลอิตาลีลงทุนในโครงการนี้กว่า 4.5 พันล้านยูโร

เทศบาลเมืองยังร่วมกับเหล่าวิศวกร และนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยปาร์ดัวร์ ทำโครงการสร้างระบบสูบน้ำไฮดรอลิกส์เพื่อ ดันพื้นทรายที่อยู่ใต้เกาะเวนิส จำนวน 12 ท่อ ความยาวแต่ละท่อ 765 เมตร กับงบประมาณ 100 ล้านยูโร โดยมุ่งหวังให้แรงดันน้ำนี้อยู่พยุงเกาะเวนิสให้สูงขึ้น 

นอกจากนี้ เวนิสยังมีแผนระยะยาวที่จะปกป้องเมืองและคืนความสมดุลให้ลากูนด้วยการย้ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ใกล้เคียงออกไป ทำให้ชาวเวนิสย้ายออกไปอยู่ ในเมืองอื่น จากเมื่อสิบปีก่อนมีชาวเมืองราว 150,000 คน ปัจจุบันมีชาวเวนิสที่อาศัยในเมืองเพียง 60,000 คน 

เนเธอร์แลนด์ ′ดินแดนที่ต่ำกว่าน้ำทะเล′

ด้วยพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้ชาวดัชต์ไม่หยุดนิ่งที่จะมีชีวิตบนผืนน้ำ

ล่าสุด เมื่อปี 2010 ยูเนสโกได้ประกาศให้ คลองวงแหวนแห่งศตวรรษที่ 17 โครงการ สร้างเมืองท่าแห่งใหม่ ในเมืองซิงเกลแกรช นครอัมสเตอร์ดัม เป็นมรดกโลก

กระนั้น ความวิตกต่อภาวะโลกร้อน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงเร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือ ทั้งโครงการสร้างที่ลุ่มเพื่อรองรับระดับน้ำ, การบำรุงรักษากำแพงกั้นน้ำและเขื่อนกั้นน้ำ ตามโครงการ Deltaworks ที่ความยาวกว่า 800 กิโลเมตร ให้อยู่ในสภาพดีเยี่ยม รวมทั้งโครงการส่งเสริมบ้านลอยน้ำบนเกาะจำลอง IJburg ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง 

ปัจจุบันบริษัทสถาปนิกในอัมสเตอร์ดัมหลายแห่ง ถือเป็นเจ้านวัตกรรมของเรือโนอาร์แห่งศตวรรษใหม่ โดยเฉพาะ บริษัท Waterstudio ที่ใช้เทคนิคเปลี่ยนวัสดุฐานรากของบ้านจากเสาเข็มคอนกรีตเป็นการหล่อคอนกรีตให้เกิดโพรงแล้วแทนที่ด้วยโฟมด้านใน ทำให้ลอยขึ้นลงได้เวลา น้ำท่วมถึง โดยบ้านทั้งหลังจะยึดติดเสาหลักเป็น ที่จอด และขึ้นลงได้ตามแนวตั้งของเสาหลักนี้ ซึ่งสามารถเลื่อนขึ้นได้สูง 18 ฟุต หรือ ประมาณ 6 เมตร 

ส่วนระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดเดินผ่าน ท่อพีวีซี ที่ออกแบบให้ยืดหยุ่นกับการขึ้นลงของกระแสน้ำ นอกจากนี้ เพื่อความสบายของคน ในบ้าน นักออกแบบยังได้ประยุกต์ใช้ wave damper หรือ ตัวดูดซับแรงสะท้อนจากคลื่น ที่ใช้ในเรือยอชต์มาใช้ในตัวบ้านด้วย 

มรดกทางความคิดของชาวดัตช์ได้ถูกหลอมรวมเป็นทักษะการบริหารจัดการน้ำที่เยี่ยมยอด ในภาครัฐมีกระทรวงบริหารจัดการน้ำโดยตรง และมกุฎราชกุมาร เจ้าชายวิลเลียม อเล็กซานเดอร์ รัชทายาทแห่งเนเธอร์แลนด์ ก็ทรงจบสาขาบริหารจัดการน้ำและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้โดยเฉพาะด้วย

(บน) คลองวงแหวนแห่งศตวรรษที่ 17 ในเมืองซิงเกลแกรช นครอัมสเตอร์ดัม (ล่าง) ในเมืองเวนิส แม้จะถูกน้ำท่วม แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม



อุตสาหกรรมน้ำและการจัดการน้ำของประเทศนี้มีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านยูโร มีบริษัทมืออาชีพจำนวนมากที่ขายเทคโนโลยีให้แก่ประเทศต่างๆ มากมาย

และล่าสุด บริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง IBM Global Center of Excellence for water Management ก็เข้าร่วมแบ่งชิ้นเค้กโดยเข้าไปตั้งบริษัทในอัมสเตอร์ดัมเพื่อหวังใช้ประสบการณ์ อันเชี่ยวกรากของชาวดัชต์ให้เป็นประโยชน์ ต่อธุรกิจ ด้วยเหตุของการแข่งขันภาคเอกชน ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านทรัพยากรน้ำของประเทศนี้ เดินหน้าไกลออกไปเรื่อยๆ 

กัวลาลัมเปอร์ ′อุโมงค์เดิมพันหนทางเศรษฐกิจ′

โครงการ Smart Tunnel เป็นอุโมงค์น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2546 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และรับมือกับปัญหาการจราจรในเมืองกัวลาลัมเปอร์ โดยตัวอุโมงค์แบ่งเป็น 3 ชั้น ในชั่วโมงเร่งด่วนจะใช้ในทางระบายรถยนต์ แต่ถ้าในกรณีเกิดพายุดีเปรสชั่น กระหน่ำ อุโมงค์ระดับล่างจะเปลี่ยนเป็นอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งถ้าระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน อุโมงค์ชั้นบนจะถูกปิดสำหรับรถยนต์และเปลี่ยนเป็นอุโมงค์ระบายน้ำเช่นกัน โดยมาเลเซียได้ว่าจ้าง นายกุสตาฟ กลาดอส ผู้จัดการโครงการชาวฮังกาเรียน และทีมวิศวกรจากทั้งต่างประเทศ และชาวมาเลย์เอง 

เทคนิคอันยอดเยี่ยมอยู่ที่เครื่องเจาะชนิดพิเศษที่สั่งตรงจากเยอรมนี ขนาดยาวกว่า โบอิ้ง 747 น้ำหนัก 2,200 ตัน ราคา 25 ล้านเหรียญ ซึ่งต้องรับหน้าที่ขุดเจาะ ในสภาพพื้นดินธรรมชาติที่ส่วนใหญ่เป็นหินปูน ทำให้เกิดช่องโพรงน้ำในบริเวณกว้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการถล่มของพื้นดินด้านบน 

แต่ด้วยความพยายามและความรู้ในการบริหารจัดการในปี 2550 อุโมงค์แห่งนี้ก็เปิดดำเนินการได้ในที่สุด 

ประเทศไทย ′วันนี้ยังไม่สาย′

สำหรับประเทศไทย ผอ.ทีซีดีซี บอกว่า ต้องเริ่มเสียแต่วันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่กักตุนอาหาร แต่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต้องเข้ามามีบทบาทในการเตรียมตัวอย่างจริงจัง 

นับแต่การแปรรูปอาหารสำเร็จรูปให้สะดวกและง่ายต่อการบริโภค รวมถึงน้ำดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในหลายประเทศที่ทำได้แล้ว โดยการเปลี่ยนน้ำสกปรกปนเปื้อนให้กลายเป็นน้ำดื่ม

ขณะเดียวกัน ในภาพรวมของแหล่งอาหาร ที่ได้ชื่อว่า "ครัวของโลก" อย่างประเทศไทยแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพื้นที่ผลิตอาหาร แหล่งเพาะปลูก และเทคโนโลยีระบบชลประทานต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ราบลุ่มของไทยตกอย ู่ในพื้นที่น้ำท่วมอีกครั้ง เพราะนอกจากความ มั่นคงด้านเศรษฐกิจ อันรวมถึงรายได้ของเหล่าเกษตรกร โรงงานผู้ผลิตและแรงงานอีกนับแสนชีวิต ยังรวมถึงการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองโลกของเราด้วย 

หากเร็วๆ นี้ จำเป็นต้องซ่อมบ้านใหม่ บางทีการมองหาวัสดุใหม่ที่รับมือกับการกัดเซาะ การดูดซับน้ำ หรือการเคลื่อนย้าย จะเป็นทางเลือก ที่จำเป็นสำหรับการออกแบบ ปัจจุบันมีวัสดุมากมายที่ให้คำตอบตั้งแต่ระดับของการสวมใส่ ไปจนถึงการป้องกันชายฝั่งที่ทรุดตัว ยกตัวอย่างเช่น 

"หินกันน้ำกัดเซาะ" ก้อนหินผสมกับโพลียูรีเทนสังเคราะห์ที่พัฒนาพิเศษ (จากเยอรมนี) ให้ดูดซับน้ำได้ ทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงช่วยปกป้องแนวกำแพงหินจากแรงกระแทกของน้ำได้ดีกว่าคอนกรีตและยางมะตอยที่มีผิวแข็งและทึบตัน เนื่องจากช่องว่างระหว่างก้อนหินจะช่วยดูดซับแรงกระแทกของน้ำเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พังทลาย ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 

"ผ้านาโน" เทคโนโลยีจากสวิตเซอร์แลนด์นี้ ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เคลือบด้วยเส้นใย ซิลิโคนเล็กๆ นับล้านเส้นมีความสามารถในการกันน้ำได้มากที่สุดเท่าที่มีการผลิตมา ปัจจุบันใช้สำหรับเป็นผ้าปูเตียงในโรงพยาบาล และผลิตชุดว่ายน้ำสำหรับนักกีฬา 

"วัสดุลอยน้ำ" คืออีกหนึ่งนวัตกรรมต้านน้ำของเยอรมนี การพัฒนาแกนโฟมมาประกบกับ GFR-coating ด้วยวิธีการสุญญากาศ ก่อนจะใช้กระบวนการอบแบบพิเศษเพื่อผลิตวัสดุที่ทนทาน ทว่ามีน้ำหนักเบาขึ้น ซึ่งนอกจากจะลอยน้ำได้แล้ว วัสดุนี้ยังใช้เป็นฉนวนกันความร้อนและกันไฟ ทนต่อรังสียูวี ปลอดจากแมลงต่างๆ อายุการใช้งานนานและราคาถูก เหมาะมากสำหรับการใช้งานเป็นฉากเวที เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงโครงสร้างลอยน้ำอย่างสะพาน หรือบ้านลอยน้ำ 

สำหรับพาหนะนอกจากเรือหรือรถฝ่ากระแสน้ำที่จะกลายเป็นเรื่องจำเป็นในอนาคตแล้ว อุปกรณ์อื่นๆ เพื่อการบอกตำแหน่งของการเดินทางนับว่ามีความสำคัญ อาทิ "วัสดุสะท้อนแสง" เพื่อสร้างความปลอดภัยในยามค่ำคืนให้แก่การสัญจร โดยเฉพาะในเส้นทางถนนเข้าหมู่บ้านหรือภายในบ้าน 

รวมทั้ง "Flooding Market" หรือตลาดน้ำ ที่จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ศูนย์การกระจายสินค้า กลไกในการควบคุมราคาสินค้าให้เป็นธรรมเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย

เพราะอุทกภัยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เราไม่อาจเอาชนะธรรมชาติได้ถาวร แต่การ "รับมือ" และ "อยู่ร่วม" กับธรรมชาติต่างหาก เป็นสิ่งที่เราต้องไตร่ตรอง

 

 



หน้า 17,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2554 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321924746&grpid=09&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น