กทม.เปิดประตูน้ำให้นนท์ เร่งสูบน้ำสู่ทะเลแก้วิกฤติ
ศปภ.แถลง กทม.ยอมเปิดประตูระบายน้ำให้ จ.นนทบุรี แล้วตามความเหมาะสม ตามประสิทธิภาพคลอง ด้าน ส.ส.นนทบุรี เสนอให้ปิดกั้นน้ำจากปทุมธานี หวั่นน้ำไหลท่วมเหมือนเดิม ระบุควรใช้โอกาสช่วงน้ำทะเลไม่หนุนระดมเครื่องสูบน้ำ ด้าน'วีระ' เผยเหลือน้ำท่วมขังนนท์-ปทุมธานี 500 ล้าน ลบ.ม. เตรียมให้กรมชลประทานเตรียมแผนกู้เทศบาลรังสิต
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายวีระ วงศ์แสงนาค ประธานคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง นายจุมพล สำเภาทอง รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังหารือร่วมกันกรณีที่ชาวบ้าน จ.นนทบุรี เรียกร้องให้ทาง กทม.ช่วยเปิดประตูระบายน้ำที่ติดกับคลองมหาสวัสดิ์ ในระดับ 1 เมตร เพื่อลดปริมาณน้ำในพื้นที่จ.นนทบุรี ว่า เบื้องต้น กทม.จะปรับเพิ่มประตูระบายน้ำให้ตามประสิทธิภาพของแต่ละคลอง ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาว กทม.และจะปรับขึ้นให้ทุกวันตามความเหมาะสม โดยบางคลองอาจมีการปรับที่แตกต่างกัน ซึ่งบางคลองอาจจะปรับเกิน 1 เมตร ในกรณีที่ไม่มีผลกระทบ เพื่อต้องการจะเร่งระบายน้ำให้กับ จ.นนทบุรี ขณะที่ด้านติดกับ อ.บางกรวย ในคลองบางพลัด คลองบางอ้อ และคลองบางบำหรุ ที่มีความต้องการให้ลดแนวคันกั้นน้ำเพื่อให้น้ำได้ไหลลงไปประตูระบายน้ำนั้น ทาง กทม.จะพยายามลดเพิ่มให้ตามศักยภาพของคลองระบายน้ำ ซึ่งจะค่อยๆ ปรับให้ จากเดิมที่เปิดอยู่ 50-60 ซม.อาจจะเพิ่มเป็น 70-80 หรือ 1 เมตร ตามประสิทธิภาพของแต่ละคลองเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเช่นเดียวกัน
นายอุดมเดช กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การประตูระบายน้ำของ กทม. แล้วจะทำให้ระดับของ จ.นนทบุรี ลดลง เพราะปริมาณน้ำจาก จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ยังไม่หมดซึ่งหากเราเปิดประตูระบายน้ำด้านล่าง น้ำข้างบนก็จะไหลมาแทนที่ ดังนั้น เราต้องปิดกั้นน้ำเพื่อไม่ให้มาเติมที่เทศบาลบางกรวย และอาศัยความร่วมมือจากทาง กทม.ก็จะทำให้น้ำแห้งได้ภายใน 4-5 วันที่กำหนด แต่เงื่อนไขต่อมาเราจะทำอย่างไร ไม่ให้น้ำข้างบนมาเติมที่เทศบาลบางกรวย ซึ่งวันนี้น้ำที่ อ.บางบัวทอง และบางใหญ่ พร้อมที่จะไหลมาเติมเทศบาลบางกรวย ฉะนั้น ในช่วงที่น้ำทะเลไม่หนุน ควรจะระดมเครื่องสูบน้ำมาติดตั้ง และผลักดันน้ำให้ระบายออกตามคลองต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกใน จ.นนทบุรี
"ในส่วนของ จ.นนทบุรี ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสามารถสูบออกได้เอง โดยไม่ต้องไปขอความร่วมมือจาก กทม.คือคลองอ้อมที่มีประตูระบายน้ำ โดยกรมชลประทานได้เข้าไปบริหารจัดการแล้ว แต่คลองพระอุดม คลองบางบัวทอง และคลองบางกรวยยังไม่มี ดังนั้นจึงขอกรุณาให้นำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำทั้งหมดที่อยู่ในเขตไทรน้อย บางบัวทอง บางใหญ่ และบางกรวย ไม่มีทางที่น้ำจะไปตรงไหน นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยา และอาศัยคลองต่างๆ จังหวะนี้จึงเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะต้องรีบสูบออก และผลักดันน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมการก่อนที่น้ำจะทะเลจะหนุนอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย." นายอุดมเดช กล่าว
ด้าน นายวีระ วงศ์แสงนาค ประธานคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในทะเลอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งตนก็ได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งก็กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ เป็นคลองมหาสวัสดิ์ คลองโยง คลองพระพิมล อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำจำเป็นต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางจังหวัดนนทบุรี ได้ขอให้ทางกรมชลประทาน เพิ่มเครื่องสูบน้ำในคลองหลักสายคลอง ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ทางคณะทำงานฯได้รับเรื่องและจะนำไปประสานงานกับกรมชลประทานในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลองบางบัวทอง คลองพระอุดม และคลองบางกรวย รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมด้วยในจุดที่ยังไม่มีประตูระบายน้ำ โดยจะขอความร่วมมือจากกองทัพเรือ ส่วนกรณีของเขตพื้นที่อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมขังอยู่นั้น หากทาง กทม.พิจารณาในการเร่งเปิดเครื่องแล้ว คาดว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่คงใช้ระยะเวลา 4- 5 วัน สถานการณ์ในพื้นที่เขตบางกรวยจะดีขึ้นตามลำดับและจะลดลง
นายวีระ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมทุ่งทางด้านตะวันตกของ กทม.ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ไทรน้อย บางบัวทอง บางใหญ่ และ บางกรวย ขณะนี้มีปริมาณน้ำท่วมทุ่งอยู่ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเราสามารถระบายน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองภาษีเจริญได้ประมาณ 239 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีน้ำจากทางอยุธยาไหลเข้ามาอีกวันละ 228 ล้าน ลบ.ม. แต่อย่างไรก็ตามถือว่าสถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้น จะสามารถหยุดการหลากของน้ำเหนือได้ภายใน 2-3 วันนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ท่วมค้างทุ่งในแต่ละพื้นที่มีปริมาณลดลงวันละ 3-4 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าถ้าระดับน้ำท่วมค้างทุ่งลดต่ำกว่าระดับถนนสายหลักก็จะทำให้การจัดการระบายน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยน้ำค้างทุ่งจากตอนบนนั้นจะเริ่มหยุดเข้ามาเติมในพื้นที่ไม่น่าเกินวันที่ 26 พ.ย. นี้เป็นต้นไป
นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทุ่งด้านตะวันออกของ กทม.ในส่วนพื้นที่รังสิตตอนเหนือ และพื้นที่รังสิตตอนใต้ ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกับฝั่งตะวันตก ระดับน้ำค้างทุ่งและในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีอัตราลดระดับ 3-4 เซนติเมตรต่อวัน ถ้าระดับน้ำท่วมค้างทุ่งลดต่ำกว่าระดับถนนสายหลักก็จะทำให้การจัดการระบาย น้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับฝั่งตะวันตก แต่ที่สาเหตุการระบายน้ำด้านตะวันออกเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากระดับน้ำทางด้านแม่น้ำบางปะกง มีระดับสูง ทำให้น้ำไหลไปทางตะวันออกช้ามาก ขณะเดียวกันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในคลอง รังสิตประยูรศักดิ์ ประมาณ 17 เซนติเมตร ถ้าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำกว่าเมื่อใดก็จะสามารถระบายน้ำออกได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้ดูจากสถานการณ์น้ำแล้ว คาดว่าประมาณ วันที่ 25 พ.ย. ถนนรังสิต-นครนายก ตลอดเส้นทางจะไม่มีน้ำท่วมขังใช้สัญจรได้ตามปกติ ทั้งนี้จากสถานการณ์ของน้ำที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทางกรมชลประทาน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผนกู้เทศบาลรังสิต ตลาดรังสิต โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน
ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำติดตั้งอยู่ 11 เครื่อง และได้นำไปติดตั้งเพิ่มอีก 15 เครื่อง แต่ปรากฏว่าได้มีขยะเข้าไปติดอยู่มากจนเกินเหตุ ทำให้เครื่องขัดข้องไปจำนวน 3 เครื่อง ทำให้ใช้งานได้ 23 เครื่องเท่านั้น อีกทั้งน้ำบริเวณดังกล่าวได้เริ่มเน่าเสีย และส่งกลิ่น จึงมีความต้องการจะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งให้เต็มที่ เพื่อให้น้ำเคลื่อนตัว เพื่อไหลไปลงทางหลักหก และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ คงจะต้องมีการจัดเก็บขยะกันอย่างจริงจังในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เพราะขยะมีปริมาณมาก
โดย: ไทยรัฐออนไลน์
22 พฤศจิกายน 2554, 04:30 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น